วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ข้าวกระบอกไม้ไผ่ ที่สวนผึ้ง

วันนั้น สายแล้ว ทางทีมงานสะพายกล้องท่องเที่ยว ได้นัดกับ น้าโต้ง นักเขียนหนังสือนามปากกา บุหลัน รันตี ผู้บุกเบิกเรื่องราว เกี่ยวกับวิถีชีวิต และธรรมชาติอันงดงามของสวนผึ้ง เป็นคนแรกแรก โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อออกเดินทาง ค้นหาพันธ์ไม้ และสัตว์ป่าหายากในบริเวณป่าดิบชื้น โดยรอบเขากระโจม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยมี น้าวอน ผู้ชำนาญการในพื้นที่ เป็นผู้นำทาง

...ภาพการผจญภัย...

หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการเดินป่า ที่ต้องผจญกับทากหลากหลายชนิดแล้ว ช่วงบ่าย ทางทีมงานได้เดินทางต่อไปยังบ้านพุระกำ ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง เพื่อเก็บภาพเพิ่มเติม และได้มีโอกาส รับประทานข้าวมื้อเย็น ที่หุงจากกระบอกไม้ไผ่ จากฝีมือของ น้าวอน พร้อมกับแกงปุด และหวาย ที่เก็บหามาจากป่าดิบชื้น เมื่อตอนกลางวัน นอกจากนั้น น้ากุ้ง กระเหรี่ยงในพื้นที่ ที่มาสมทบกับเราในภายหลัง ยังได้อุตส่าห์หาปลาไร้สารพิษ จากลำธารธรรมชาติของพุระกำ มาให้พวกเราลองลิ้มชิมรสอีกด้วย

อาหารมื้อเย็นวันนี้ที่สวนผึ้ง อร่อยมาก ทีมงานขอขอบคุณธรรมชาติอันงดงาม และน้ำใจอันแสนดีของ น้าวอน และน้ากุ้ง ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

...ภาพสวยงาม...ของบ้านพุระกำ


บท ตัดต่อ เสียง : สุชาต จันทรวงศ์
ถ่ายภาพ : สุชาติ รอดบุญมา
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 27 ตุลาคม 2552

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หอศิลป์ วัดประดู่

วัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับเลือกเป็นวัดตัวอย่างโครงการนำร่อง “วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน” โดย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวัด ให้เจริญรุ่งเรือง นำไปสู่ความยั่งยืนในทุกทุกด้าน โดยวัดจะต้องประสานความร่วมมือระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียนและราชการ หรือที่เรียกว่า "บวร" ให้ได้ โดยการนำของพระมหาสุรศักดิ์ อติสกโข เจ้าอาวาสวัดประดู่ เป็นผู้วางรูปแบบในการพัฒนา เพื่อให้วัดเป็นแหล่งเรียนรู้สู่ความยั่งยืน

สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในวัดประดู่ก็คือ "ศูนย์สาธิตศิลปะการทำหัวโขนและเศียรครู” หรือที่เรียกกันว่า “หอศิลป์" สร้างขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช 2548 โดยเจ้าอาวาส เล็งเห็นว่าศิลปวัฒนธรรมต่างต่าง ถือเป็นมรดกล้ำค่าที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกของลูกหลาน

หอศิลป์แห่งนี้ เปิดให้ชุมชนและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษา ขั้นตอนการทำ และการฝึกทำหัวโขน และเศียรครู โดยจัดให้มี หลักสูตรการเรียนรู้ โดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นบุคคลในชุมชนวัดประดู่ ที่ได้เล่าเรียน ศึกษา และสืบทอดมาโดยตรง จากภูมิปัญญารุ่นก่อนก่อน และในวันปิยะมหาราชของทุกทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ทางวัดจะจัดให้มีพิธีไหว้ครูดนตรีไทยและนาฎศิลป์ไทย เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหา นักเรียน นักศึกษา ได้มากระทำพิธีไหว้ครูและครอบครู อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

อ้างอิง :“วัดประดู่"แหล่งเรียนรู้ชุมชนที่อัมพวา.ไลสไตล์ ขอนแก่นลิงค์ . http://www.khonkaenlink.info/tour/tour_thai.asp?id=6450 (สืบค้นเมื่อ 22 ต.ค.2552)
บท ถ่ายภาพ ตัดต่อ เสียง : สุชาต จันทรวงศ์
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 13 ตุลาคม 2552

วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

บวร วัดประดู่

วัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือ ระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน หรือที่เรียกคำย่อรวมกัน ว่า บวร.

ณ วัดประดู่ แห่งนี้ ในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และช่วงปิดเทอม ชาวบ้าน จะส่งบุตรหลานมาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์น้อย โรงเรียน ก็จะทำหน้าที่อบรม ให้ความรู้ ฝึกวิธีการพูด และจรรยามารยาท ให้แก่เด็กเด็ก ส่วนวัด ก็มีหน้าที่ในการดูแล อนุรักษ์ รวบรวมศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาภายในท้องถิ่น นำมาจัดสร้างเป็นองค์ความรู้ไว้ที่วัด เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม

...ภาพมัคคุเทศก์น้อยบรรยาย...

นอกจากเด็กเด็ก จะรู้สึกภาคภูมิใจต่อท้องถิ่นของตนเองแล้ว เด็กเด็กยังได้เงินค่าตอบแทนเป็นทุนการศึกษาจากหลวงพ่อเจ้าอาวาสอีกทางหนึ่งด้วย และในบางโอกาส เด็กเด็กก็ยังได้ค่าทิปเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม มากน้อยแตกต่างกันไป ตามแต่กำลังศรัทธา

นี่คือ ตัวอย่างที่น่าชื่นชมอีกตัวอย่างหนึ่ง ของความร่วมมือ ระหว่าง บ้าน วัด และโรงเรียน


บท ถ่ายภาพ ตัดต่อ เสียง : สุชาต จันทรวงศ์
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 20 ตุลาคม 2552

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

มัคคุเทศก์น้อย วัดประดู่

วัดประดู่ แห่งนี้ เคยเป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต้นทางชลมารค มาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2477 และทรงเสวยพระกระยาหารเช้าที่วัดประดู่ แห่งนี้ และต่อมาได้ทรงเกิดพระราชศรัทธาต่อหลวงปู่แจ้ง เจ้าอาวาสในขณะนั้น จึงได้ทรงถวายเรือเก๋งพระที่นั่ง พระแท่นบรรทม ตาลปัตร ปิ่นโต สลกบาตร และเครื่องราชศรัทธาที่สำคัญๆ ไว้ให้หลวงปู่แจ้งหลายรายการ ในปัจจุบัน ทางวัดได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้เข้าเยี่ยมชม

นอกจากนั้น วัดประดู่ยังมีเรื่องราวและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกหลายประการ รอให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ดังที่มัคคุเทศก์ตัวน้อยๆ แห่งวัดประดู่ ได้อธิบายไว้ดังนี้

...ภาพมัคคุเทศก์น้อยบรรยาย..

ยังมีเรื่องราวอีกหลายประการของวัดประดู่ ที่ทางทีมงานสะพายกล้องท่องเที่ยว นำมาฝาก โปรดติดตามได้ ในตอนต่อๆ ไป

บท ถ่ายภาพ ตัดต่อ เสียง : สุชาต จันทรวงศ์
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 13 ตุลาคม 2552

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

โคยกี๊ ตลาดใหม่ราชบุรี

ตลาดเก่า โคยกี๊ ถนนคนเดินริมแม่น้ำแม่กลอง ตั้งอยู่ในตัวอำเภอเมืองราชบุรี เกิดขึ้นเมื่อต้นปี พุทธศักราช 2552 โดยแนวความคิดของ นายพิชัย นันทชัยพร นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี ตลาดโคยกี๊ เป็นตลาดค้าขายสองข้างถนนวรเดช มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร มีสินค้าจำหน่ายมากมาย ได้แก่ สินค้า OTOP สินค้าพื้นเมือง อาหารพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เครื่องใช้ และอาหารต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมอีกหลายอย่าง อาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง ล่องเรือไหว้พระ การแสดงภาพถ่ายเก่า การปั่น จักรยานน้ำ เป็นต้น ตลาดเก่าโคยกี๊ เปิดบริการเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 นาฬิกา ถึง 22.00 นาฬิกา

น่าชื่นชมแนวความคิดของนายพิชัยฯ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี ที่สามารถนำจุดเด่นของแม่น้ำแม่กลอง ออกมาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวได้ โคยกี๊ เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า ริมแม่น้ำ ริมคลอง ส่วนคำนำหน้าโคยกี๊ ว่า “ตลาดเก่า” นั้น อาจมีความหมายที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิด เพราะในอดีต จังหวัดราชบุรีไม่เคยมีตลาดในลักษณะเช่นนี้มาก่อน ดังนั้น ตลาดโคยกี๊ จึงต้องถือว่าเป็นตลาดที่สร้างขึ้นใหม่ ไม่ใช่ “ตลาดเก่า” อย่างที่ทุกคนเข้าใจ

วันนี้ มีคำถามว่า ตลาดโคยกี๊ ที่ทุ่มเทงบประมาณด้านกายภาพและกิจกรรม ลงไปจำนวนมากนั้น หากพ้นสมัยของนายพิชัย นันทชัยพร แล้ว ตลาดโคยกี๊แห่งนี้ จะอยู่รอดหรือไม่

ดังนั้น ...ตลาดโคยกี๊ จึงต้องรีบเร่งหาจุดขายและเสน่ห์ของตนเอง ให้พบโดยเร็ว หากมีแต่คนขาย แต่ไร้คนซื้อ จัดกันเอง เที่ยวกันเอง ข้อมูลที่บอกว่า มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมตลาดจำนวนมากนั้น ก็ยังไม่สามารถที่จะวัดความอยู่รอดของตลาดได้

หากวันนี้ ตลาดโคยกี๊ ไม่รีบเร่งค้นหาและพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองแล้ว วันข้างหน้า อาจจะกลายเป็น ตลาดนัดริมน้ำ ทั่วๆ ไป ที่เทศบาลเมืองราชบุรี เป็นโตโผใหญ่ จัดการขึ้นมาเอง....

บท ถ่ายภาพ ตัดต่อ เสียง : สุชาต จันทรวงศ์
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 13 ตุลาคม 2552

วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ฝูงลิงแสม อุทยานหินเขางู


อุทยานหินเขางู ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเขางู ห่างจากตัวเมืองราชบุรี ไปตามทางหลวงหมายเลข 3087 สายราชบุรี-จอมบึง-สวนผึ้ง ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร บริเวณแห่งนี้ เดิมเป็นเขตสัมปทานระเบิดหิน จึงทำให้เทือกเขางูเสื่อมโทรมลง ต่อมาทางจังหวัดราชบุรี ได้เล็งเห็นความสำคัญของเทือกเขางู จึงได้ระงับการให้สัมปทาน ประกาศให้เป็นอุทยานหิน รวมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญ ของจังหวัดราชบุรี อีกแห่งหนึ่งด้วย

สัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของอุทยานหินเขางู คือ ฝูงลิงแสม จำนวนมาก ที่เที่ยวเล่นอยู่ตามต้นไม้ และสองข้างทาง รอรับอาหารจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือน สภาพการชำรุดของอาคารและสถานที่หลายแห่งในอุทยาน ล้วนแล้วมาจากฝีมือของลิงแสม เหล่านี้ทั้งสิ้น ปัจจุบันยังไม่มีใคร สามารถระบุได้ว่า ลิงแสมเหล่านี้ เป็นจุดดึงดูด หรือเป็นจุดทำลายการท่องเที่ยว กันแน่

จังหวัดราชบุรี ได้จัดทำโครงการคุมกำเนิดลิงอุทยานหินเขางู ขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุด ในเดือนกันยายน 2554 มีเป้าหมายเพื่อ คุมกำเนิดปริมาณลิงแสมให้เหมาะสม สะดวกต่อการควบคุม มิให้ไปรบกวนหรือทำลาย ชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว รวมทั้งชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงด้วย โดยใช้วิธีการสอดฮอร์โมนคุมกำเนิดลิงแสมเพศเมีย และผ่าตัดท่อน้ำเชื้อลิงแสมเพศผู้

ลิงแสม เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 แต่วันนี้ ลิงแสมในอุทยานหินเขางู มีจำนวนมากเกินไป จนมนุษย์ไม่ต้องการ วิธีการคุมกำเนิดลิง จึงดูน่าจะเป็นวิธีการที่ละมุนละม่อมที่สุด แต่ขณะเดียวกัน ทำไม? เราจึงไม่คิดหาวิธีอื่น ที่จะนำคุณสมบัติของลิงแสม เหล่านี้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมการแสดงของลิง กิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของลิง กิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาวิจัยลิง เป็นต้น

น่าสงสาร เจ้าลิงแสม เจ้ารู้หรือไม่ว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ พวกเจ้าจะเป็นหมัน และ พวกเจ้าจะไม่มีลูกของตนเองไว้สืบเผ่าพันธุ์อีกต่อไป

บท ถ่ายภาพ และตัดต่อ : สุชาต จันทรวงศ์
เสียง : รัชดา พินิจกุจ
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 7 ตุลาคม 2552

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วัดมหาธาตุราชบุรี ของดีที่ถูกลืม



วัดมหาธาตุวรวิหาร พระอารามหลวง ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดราชบุรี อดีตเคยเป็นศูนย์กลางเมืองราชบุรีเก่า ตั้งอยู่ในบริเวณตัวเมือง ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบัน ภาพองค์พระปรางค์ของวัดมหาธาตุฯ เป็นภาพหนึ่ง ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี เพื่อสื่อสารเรื่องราวต่างต่าง ให้แก่นักท่องเที่ยว และบุคคลโดยทั่วไป

องค์พระปรางค์ อันเก่าแก่ ของวัดมหาธาตุฯ สร้างด้วยศิลาแลง สูงประมาณ 24 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยขอมเรืองอำนาจ มีหลวงพ่อพันปีประดิษฐ์สถานอยู่ภายในองค์พระปรางค์

ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนองค์พระปรางค์เป็นโบราณสถานของชาติ และกำลังเร่งดำเนินการขุดค้นบริเวณโดยรอบ เพื่อหาร่องรอยแห่งอารยะธรรมที่ผ่านมา พบหลักฐานหลายประการ แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรือง ตั้งแต่สมัยขอม ลพบุรี จนกระทั่งถึง อาณาจักรศรีอโยธยา อาทิ แท่นพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ เตาเผาถ้วยชาม บันไดท่าน้ำวิหารพระรัตนเมือง หรือหลวงพ่อมงคลบุรี ฐานศิลาแลงกำแพงแก้ว ที่กว้างใหญ่ มีความสูงกว่าสองคนต่อ เป็นต้น

ปัจจุบัน การขุดค้นของกรมศิลปากร ไม่มีท่าทีว่า จะเสร็จสิ้นลงเมื่อใด เนื่องจากต้องรองบประมาณ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ลดน้อยลงไปมาก เนื่องจากไม่สะดวกในการเข้าชม

วัดมหาธาตุวรวิหาร แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นโบราณสถานของชาติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญ แต่ ณ วันนี้ วัดมหาธาตุฯ ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว หากผู้รับผิดชอบ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ได้หันมาสนใจบริหารจัดการอย่างจริงจังแล้ว วัดมหาธาตุวรวิหาร จะกลับมาเป็นประโยชน์ ต่อ นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และคนรุ่นหลัง ดังเดิม

อย่าให้คุณค่าของวัดมหาธาตุฯ เป็นเสมือน งานวิจัยชั้นดี ที่ถูกเก็บไว้บนหิ้ง ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อสังคมและประเทศชาติ ตามที่ควรจะเป็น

บท ถ่ายภาพ และตัดต่อ : สุชาต จันทรวงศ์
เสียง : กาญจนา สิมมา
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 4 ตุลาคม 2552

ห้วยคอกหมู สุดเขตแดนสยาม



จุดชมวิวห้วยคอกหมู เป็นช่องทางติดกับชายแดนประเทศพม่า ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง
จังหวัดราชบุรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตร เดิมเป็นช่องทางการค้าไม้ที่รับสัมปทานระหว่าง ไทยกับพม่า ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมวดตำรวจตระเวนชายแดน กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 137 และได้มีการพัฒนาปรับปรุงเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวชมวิว ภูเขา ริมเทือกเขาตะนาวศรีชายแดนไทย-พม่า

บนจุดชมวิวห้วยคอกหมู นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นภูมิประเทศอันสวยงามของเทือกเขาตะนาวศรี และชายแดนพม่า สัมผัสกับอากาศที่หนาวเย็น ป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ และนกนานาชนิด ในช่วงฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมหนาแน่น ดุจดั่งทะเลหมอก และในวันท้องฟ้าโปร่ง จะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตก ที่งดงามอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

เส้นทางการขึ้นจุดชมวิวห้วยคอกหมู ยังเป็นเส้นทางลูกรังที่ลาดชัน ระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น นักท่องเที่ยวเชิงผจญภัยส่วนใหญ่ จะขับรถขับเคลื่อนสี่ล้อขึ้นไปพักแรม กางเต็นท์ ในวันหยุด ซึ่งบนจุดชมวิวมีบริการสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งห้องน้ำและห้องส้วมให้แก่นักท่องเที่ยว ส่วนนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ไม่มีรถขับเคลื่อนสี่ล้อเพื่อขึ้นจุดชมวิว สามารถติดต่อเช่าได้ในพื้นที่ อัตราเที่ยวละประมาณ 1,500 บาท

จุดชมวิวห้วยคอกหมู มีธรรมชาติที่งดงาม อากาศหนาวเย็น ลมแรง และมีความชื้นสูง อันเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทุกคนหลงใหล และทุกคน ไม่ลืมที่จะถ่ายภาพเคียงข้างป้าย “สุดเขตแดนสยาม” เป็นที่ระลึกทุกครั้งไป


บท ถ่ายภาพ และตัดต่อ : สุชาต จันทรวงศ์
เสียง : กาญจนา สิมมา
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 29 กันยายน 2552

บ้านพุระกำ อัญมณีแห่งตะนาวศรี


บ้านพุระกำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 6 ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในโครงการฟาร์มตัวอย่าง ตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ราษฎรมีรายได้จากการรับจ้าง และฝึกอาชีพในฟาร์ม สามารถต่อยอด นำไปประกอบอาชีพของตนเองได้ นอกจากนั้น ยังมุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ เป็นแหล่งผลิตอาหาร และขยายผลสู่การค้า โดยไม่เน้นผลกำไร เน้นให้ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้

บ้านพุระกำ นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว ยังมีทิวทัศน์ของผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ นักท่องเที่ยวเชิงผจญภัย มักชอบเดินทางมาพักแรม กางเต็นท์ ในช่วงวันหยุดเป็นประจำ เพื่อที่จะได้สัมผัสกับกลิ่นไอของธรรมชาติและสายน้ำ

เส้นทางเข้าสู่ หมู่บ้านพุระกำ ยังเป็นถนนลูกรัง ระยะทางประมาณเกือบ 30 กิโลเมตร ในช่วงฤดูฝน ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อในการเดินทาง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านพุระกำ เรียบง่าย มีอัธยาศัยไมตรี เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวทุกคน ที่มาเยือน

นักท่องเที่ยวหลายคน มาที่นี่แล้ว มักจะต้องหาทางกลับมาใหม่ เพราะนอกจากจะได้สัมผัส และถ่ายภาพกับธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตที่พอเพียง บวกกับเสน่ห์ ในความใสซื่อของชาวบ้าน ได้ความรู้จากฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริ จึงเป็นผลทำให้ นักท่องเที่ยวเหล่านั้น ตรึงตราอยู่ในความทรงจำ ไม่เคยลืมเลือน

บ้านพุระกำ นับเป็นหนึ่งในอัญมณีของตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ที่ยังสดใสบริสุทธิ์ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงอนุรักษ์ผืนป่าและผืนน้ำไว้ได้อย่างสมบูรณ์

บท ถ่ายภาพ และตัดต่อ : สุชาต จันทรวงศ์
เสียง : กาญจนา สิมมา
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 29 กันยายน 2552