วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

การย่ำขาง


การย่ำขาง
เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2552 ทีมงานสะพายกล้องท่องเที่ยว ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม โครงการรวมพลังสร้างสุขภาพ ด้วยการแพทย์แผนไทยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ ระดับภาคกลาง ณ ตลาดเพชรเมืองราช ริมถนนเพชรเกษม อ.เมือง จ.ราชบุรี ทีมงาน ได้พบวิธีการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดทางร่างกายชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ย่ำขาง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพด้านกายบำบัด
วิธีรักษานั้น ผู้รักษาหรือที่เรียกว่าพ่อหมอ จะใช้เท้าชุบน้ำยา ซึ่งทำจากน้ำไพลหรือน้ำมันงา แล้วย่ำบนขาง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าผาล ที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงนำมาย่ำบนร่างกายของผู้ป่วยหรือที่เรียกว่าลูกเลี้ยง พร้อมทั้งเสกคาถาอาคมกำกับด้วย
ในปัจจุบัน การรักษาส่วนศีรษะมีการปรับเปลี่ยนเป็นใช้มือหรือลูกประคบนวด แทนการใช้เท้าย่ำ แต่ส่วนอื่นอื่นของร่างกายยังคงใช้เท้าย่ำเหมือนเดิม
คำว่า ขาง หมายถึง เหล็กหล่อชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นโลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็นใบผาลไถ ที่ใช้สำหรับไถนา ภาษาถิ่นล้านนาเรียกว่า ใบขาง
เนื่องจากใบขางเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการไถนา ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงเชื่อกันว่า ขาง มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เพราะสามารถไถนาปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งโลกได้ อีกทั้งมีคุณสมบัติไม่เป็นสนิมง่ายและในตัวขาง มีแร่ธาตุบางชนิดที่เชื่อว่าเป็นตัวยาสามารถใช้รักษาโรคได้

ที่มาข้อมูล : http://www.culture.go.th/WEBORAL/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B3%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%87.htm
บท ตัดต่อ เสียง : สุชาต จันทรวงศ์
ถ่ายภาพ : สุชาติ รอดบุญมา
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 23 พฤศจิกายน 2552

การนวดเหยียบเหล็กแดง


การนวดเหยียบเหล็กแดง
เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2552 ทีมงานสะพายกล้องท่องเที่ยว ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม โครงการรวมพลังสร้างสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ ระดับภาคกลาง ณ ตลาดเพชรเมืองราช ริม ถนนเพชรเกษม อ.เมือง จ.ราชบุรี ทีมงานได้พบวิธีการนวดที่เรียกว่า การนวดเหยียบเหล็กแดง ซึ่งเป็นวิชานวดตั้งแต่สมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 5 สืบต่อกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น
การนวดเหยียบเหล็กแดง เป็นการนวดโดยใช้ส้นเท้าของผู้นวด ทาด้วยน้ำมันงา แล้วใช้ส้นเท้าเหยียบบนเตาไฟ ซึ่งมีแผ่นเหล็กร้อนวางอยู่ข้างบน เมื่อใช้ส้นเท้าไปกดนวด ผู้ป่วยก็จะได้ผลทั้งจากการนวดกด และความร้อนในคราวเดียวกัน
การนวดด้วยวิธีนี้ ผู้นวดจะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถควบคุมน้ำหนักความแรงของการกด โดยต้องรู้จักการประคองตัว ให้สามารถผ่อนแรงหรือเพิ่มแรงกดได้ตามต้องการ
การนวดเหยียบเหล็กแดง สามารถรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นยึด รวมถึงอาการหนักๆ อย่างหมอนรองกระดูกอักเสบ หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ไปจนถึงอัมพฤกษ์ อัมพาตด้วย การนวดแบบนี้ ใช้ในกรณีที่การนวดด้วยมืออย่างเดียวไม่ได้ผล การใช้เวลาในการรักษา แล้วแต่อาการของผู้ป่วย และสามารถทำการนวดได้ทุกวัน ยกเว้นวันพระ เพราะเชื่อว่าจะแสลงกับตัวผู้ป่วยและผู้นวด
และที่สำคัญ ผู้ที่ทำการนวดให้จะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น เพราะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์อย่างหนึ่งสืบต่อกันมา

ที่มาข้อมูล :
http://www.krujongrak.com/nongyanang/bubbut.html
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000097531
บท ตัดต่อ เสียง : สุชาต จันทรวงศ์
ถ่ายภาพ : สุชาติ รอดบุญมา
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 23 พฤศจิกายน 2552

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

แกะรอย..พรานล่ากวาง

สะพายกล้องท่องเที่ยว
ตอน : แกะรอย..พรานล่ากวาง

บริเวณผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ภายใต้หมอกอันหนาทึบ บริเวณรอบเขากระโจม อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายากชนิดหนึ่ง คือ กวางป่า หรือ บางครั้งอาจเรียกว่า กวางม้า เป็นจำนวนมาก

กวางม้า เป็นสัตว์คุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เป็นสัตว์เท้ากีบ กินพืชเป็นอาหาร ลักษณะทั่วไปมีสีน้ำตาลเข้ม ขนสั้นและหยาบ สูง 140 ถึง 160 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 185 ถึง 260 กิโลกรัม

เช้าวันจันทร์ที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2553 ทางทีมงานสะพายกล้องท่องเที่ยวได้รับเชิญจาก ชมรมรักษ์เขากระโจม ให้เข้าลาดตะเวนร่วมกับ ชุดกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 137 , หน่วย ฉก.(อ่านว่า ฉอ-กอ) ทัพพระยาเสือ กำลังฝ่ายทหาร และ อปพร.(อ่านว่า ออ ปอ พอ รอ) กำลังฝ่ายพลเรือน เพื่อร่วมกันค้นหาร่องรอยของ พราน..นักล่ากวางม้า ซึ่งได้รับแจ้งว่า เริ่มกลับมาปฏิบัติการอีกครั้งหนึ่ง

พวกเรา ออกเดินทางด้วยเท้า จากฐานปฏิบัติการสอยดาว เชิงเขากระโจม เข้าสู่ผืนป่าดิบ แกะรอยตามเส้นทางของพรานนักล่า โดยมี ลุงวอน เป็นผู้นำทาง

การดักกวางม้านี้ พรานผู้ล่าจะใช้ลวดสลิงค์ ทำเป็นบ่วง ผูกติดไว้กับกิ่งไม้ใหญ่ที่โน้มลงมา สร้างเป็นกับดัก วาง ไว้ตามเส้นทางเดินของกวาง เมื่อกวางเหยียบ บ่วงก็จะดึงตัวกวางให้ลอยสูงขึ้น ห้อยต่องแต่ง หมดปัญญาที่จะดิ้นรนหนี รอเพียงพราน ผู้เป็นเพชฌฆาต มาชำแหละเนื้อออกเป็นชิ้นชิ้น ยัดใส่กระสอบ แล้วแบกออกจากป่า นำส่งต่อไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามใบสั่งที่ได้รับมา

พวกเราใช้เวลาเดินแกะลอยตามเส้นทางที่ลาด และสูงชัน ตามเทือกเขาและสันเขาหลายลูก ตั้งแต่เก้าโมงเช้า พบแต่เพียงร่องรอยความเป็นอยู่ของกวางม้า เท่านั้น แต่ไม่พบหลักฐานบ่วงสลิงค์ของพรานนักล่า แต่อย่างใด จนกระทั่งเกือบบ่ายสี่โมงเย็น ภารกิจในวันนั้น จึงเสร็จสิ้นลง

ลุงวอน คนนำทางบอกว่า ยังมีเส้นทางที่ต้องแกะลอยของการล่ากว้างครั้งนี้ อีกหลายเส้นทาง ที่ยังไม่ได้เดิน ไว้คราวหน้า เมื่อได้รับแจ้ง ค่อยมาลาดตระเวนกันใหม่

เรื่องราวในครั้งนี้สอนให้พวกเรารู้ว่า “ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่หยุดกิน สัตว์ป่าก็จะถูกเข่นฆ่าเช่นนี้...อยู่ร่ำไป....”

บท ตัดต่อ ถ่ายภาพ : สุชาต จันทรวงศ์
เสียง : ภัทรพงศ์ คำเปรม
บันทึกเสียง : สุชาติ รอดบุญพา
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด (HCTV)
วันที่ผลิต : 19 มกราคม 2553