วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

การย่ำขาง


การย่ำขาง
เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2552 ทีมงานสะพายกล้องท่องเที่ยว ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม โครงการรวมพลังสร้างสุขภาพ ด้วยการแพทย์แผนไทยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ ระดับภาคกลาง ณ ตลาดเพชรเมืองราช ริมถนนเพชรเกษม อ.เมือง จ.ราชบุรี ทีมงาน ได้พบวิธีการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดทางร่างกายชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ย่ำขาง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพด้านกายบำบัด
วิธีรักษานั้น ผู้รักษาหรือที่เรียกว่าพ่อหมอ จะใช้เท้าชุบน้ำยา ซึ่งทำจากน้ำไพลหรือน้ำมันงา แล้วย่ำบนขาง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าผาล ที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงนำมาย่ำบนร่างกายของผู้ป่วยหรือที่เรียกว่าลูกเลี้ยง พร้อมทั้งเสกคาถาอาคมกำกับด้วย
ในปัจจุบัน การรักษาส่วนศีรษะมีการปรับเปลี่ยนเป็นใช้มือหรือลูกประคบนวด แทนการใช้เท้าย่ำ แต่ส่วนอื่นอื่นของร่างกายยังคงใช้เท้าย่ำเหมือนเดิม
คำว่า ขาง หมายถึง เหล็กหล่อชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นโลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็นใบผาลไถ ที่ใช้สำหรับไถนา ภาษาถิ่นล้านนาเรียกว่า ใบขาง
เนื่องจากใบขางเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการไถนา ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงเชื่อกันว่า ขาง มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เพราะสามารถไถนาปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งโลกได้ อีกทั้งมีคุณสมบัติไม่เป็นสนิมง่ายและในตัวขาง มีแร่ธาตุบางชนิดที่เชื่อว่าเป็นตัวยาสามารถใช้รักษาโรคได้

ที่มาข้อมูล : http://www.culture.go.th/WEBORAL/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B3%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%87.htm
บท ตัดต่อ เสียง : สุชาต จันทรวงศ์
ถ่ายภาพ : สุชาติ รอดบุญมา
ผลิตโดย : บริษัท หัวช้างเอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด
วันที่ผลิต : 23 พฤศจิกายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น